วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558


ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกฉบับล่าสุด ปี 2015 ที่ดำเนินการโดย QS เพิ่งประกาศออกมาสด ๆ ร้อนนี้ปรากฏว่า อันดับหนึ่งถึงสิบของโลก ส่วนใหญ่ก็เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเดิม ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพียงแต่อาจจะสลับอันดับกันไปมาบ้าง



แต่ผลที่น่าสนใจ ในปีนี้คือการผงาดของมหาวิทยาลัยในเอเซียที่เข้าสู่อันดับโลกได้มากขึ้น
โดยอันดับหนึ่งของเอเซีย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 12 (ปีก่อนอยู่อันดับที่ 22) จะเห็นว่าอันดับดังกล่าวนี้ สูงกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อมาเก่าแก่ของโลกหลายมหาวิทยาลัย เช่น Yale, John Hopkins, Cornell, U Penn หรือแม้แต่ UC Berkley และ UCLA 
เท่านั้นยังไม่พอมหาวิทยาลัยคู่แฝดในสิงคโปร์ ได้แก่ Nanyan University of Technology ตามติดเข้ามาเป็นอันดับที่ 13 โดยมีคะแนนห่างกันไม่ถึง 1 คะแนน


คราวนี้มาดูมหาวิทยาลัยของไทย ในจำนวน 8 มหาวิทยาลัยที่ QS นำเข้าสู่การจัดอันดับ ปรากฏว่าในปีนี้อันดับของเราถอยต่ำลงทุกมหาวิทยาลัย ในขณะที่สิงคโปร์ขึ้น 10 อันดับ ไทยเรากลับลดลง 10 อันดับ เช่นกัน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ถือเป็นอันดับหนึ่งของไทย จากปีที่แล้วที่อยู่ที่อันดับ 243 ปีนี้ลดลงไปเป็น 253 มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่แล้วอยู่ที่ 257 ปีนี้ขยับลงไปเป็น 295 ตามมาด้วย เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น พระจอมเกล้าธนบุรี และ สงขลานครินทร์ ตามลำดับ

ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเรายังอ่อนแอในเรื่องของระบบการศึกษาอยู่มาก รัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศถ้าไม่ตั้งใจแก้ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาอย่างจริงจัง (แก้ปัญหาอย่างเข้าใจจริงๆ) ก็ยากที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมกับชาติต่างๆได้

เพราะการศึกษาที่ดี คือการสร้างบุคลากรที่ประกอบเป็นทุนมนุษย์เพื่อเข้าสู่สนามอาชีพโดยตรง รวมทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการสร้างทุนทางปัญญาและนวัตกรรมให้แก่ชาติ ถ้าระบบการศึกษาของไทยเรายังอ่อนแอหรือตกต่ำอยู่เช่นนี้ ก็จะสะท้อนถึงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ชาติเรามีว่าไม่อาจจะสู้ชาติอื่นๆ ได้ รวมทั้งฉายภาพให้เห็นถึงความรู้ที่อ่อนด้อย ไม่เอื้อให้เกิดศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา  เมื่อเป็นเช่นนี้ชาติไทยเราก็จะกลายเป็นผู้บริโภคนวัตกรรมที่สร้างโดยผู้อื่น อันหมายความว่าขนเงินออกไปให้คนอื่นเขานั่นเอง
ที่จริงความตกต่ำของมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาเป็นปัญหาปลายเหตุ ปัญหาต้นเหตุอยู่ที่
1. ครอบครัวของเด็กแต่ละคน
ครอบครัวไหนที่มีทัศนะที่ว่า "การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้" ก็จะส่งเสริมให้ลูกของตัวเองให้ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีตั้งแต่ยังเด็ก แล้วกับเอาใจใส่ดูแลส่งเสริมให้ได้เรียนจนถึงที่สุด ถึงแม้ว่าบางครอบครัวจะมีฐานะความเป็นอยู่ไม่สมบูรณ์พร้อม แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของลูกตัวเองเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
ตรงกันข้ามถ้าครอบครัวไหนไม่ให้ความสนใจเรื่องการศึกษาของลูกตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปัญหาของลูก ถ้าลูกตัวเองมีนิสัยใฝ่เรียนก็ดีไปแต่ไม่ได้ส่งเสริมอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าลูกไม่ใฝ่เรียนก็ปล่อยไปตามยถากรรม เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นมาก็เรียนไม่ทันเพื่อน กลายเป็นคนมีป่มด้อยขาดความมั่นใจ พอจะเข้ามหาวิทลัยก็ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดหรือชอบด้านไหนเป็นพิเศษเลยเลือกเรียนตามเพื่อน สุดท้ายแม้เรียนจบก็กลายเป็นคนไร้ศักยภาพ
2. ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศเรา ก็มีความอ่อนแออันเป็นที่ปรากฏชัด ไม่ว่าจะแสดงออกมาในผลการสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่เอาคะแนนจากผู้เข้าสอบ 65 ประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 5 พันคน มาทำการสอบวัดความรู้ ผลปรากฏว่าไทยเราอยู่อันดับในกลุ่มรั้งท้าย คือประมาณอันดับที่ 50
ที่น่าตกใจและตื่นเต้น คือ ผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ในการสอบครั้งล่าสุดเมื่อปี  2012 เด็กเวียดนามสอบได้เป็นที่ 8 ของโลก ขณะที่เด็กไทยได้เป็นที่ 48  ผลการสอบนี้ดูจะสอดคล้องกับที่เราจัดสอบเองด้วย เช่น การสอบ ONET ที่เกิดปรากฏการณ์ "สอบตกทั้งประเทศ" ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากโรงเรียนประมาณ 4 หมื่นกว่าโรงเรียนที่สังกัด สพฐ. มีโรงเรียนที่สอบได้คะแนนเกินครึ่งอยู่เพียง 2 พันกว่าโรงเรียน เท่านั้นเอง ซึ่งแสดงว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ 3 หมื่นกว่าโรงเรียนสอบตกหมด
ถ้าเราไม่พัฒนาการศึกษาของเรา ชาติไทยน่าจะไปไม่รอด และขณะนี้หมดเวลาที่จะรอแล้ว การปฏิรูปการศึกษาที่ท่องกันจนเป็นคาถาแต่ไม่มีรูปธรรม หรือแม้แต่ความตั้งใจที่ทำก็ยังไม่มี
แล้วอย่างนี้จะหวังให้ประเทศของเราเจริญไปข้างหน้าคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

Cr. ดร.ภาวิช ทองโรจน์
อ้างอิงข้อมูลจาก : QS World University Rankings 2015